ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบและนำมาสั่งสอนแก่ชาวโลก โดยมีจุดหมายเพื่อให้ทุกคนได้พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้นทรงตรัสว่ามีอยู่มากมายมหาศาลเหมือนต้นไม้ในป่า แต่ที่ทรงนำมาสั่งสอนนั้น มีเพียงเท่าใบไม้ในกำมือ หมายความว่าทรงเลือกแต่สิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ได้เท่านั้น
ทุกวันนี้มนุษย์เราเมื่อมีทุกข์ ก็พยายามแสวงหาสิ่งแก้ทุกข์ แต่บางทีนั้นสิ่งที่แก้ไขกลับเพิ่มความทุกข์ให้เรามากขึ้น เช่น เราหันไปดื่มเหล้า เพื่อลืมความทุกข์จากการที่คนรักทิ้งเราไป แต่กลับทำให้เราได้ทุกข์อย่างอื่นขึ้นมา เช่น อาการปวดศีรษะ ไม่สบาย ต่างๆ นานา และการดับทุกข์เช่นนี้ ก็เป็นการดับเพียงชั่วคราว คือดับเมื่อเราดื่มเห้าเท่านั้น เมื่อหายเมา หรือตื่นขึ้นมาแล้ว เราก็ทุกข์เหมือนเดิม
การดับทุกข์ในทางพระพุทธศาสนานั้น ทรงสอนว่าให้พิจารณาถึงสรรพสิ่งว่าตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) และ อนัตตา (ความไม่มีตัวตน) ท่านสอนว่าเมื่อเรามีทุกข์ เช่น เราโกรธ หรือเกลียดบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้เราพิจารณาว่า ตัวของเขาประกอบด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแปรปรวนไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา และไม่นานก็ต้องตาย ในส่วนของอนัตตานั้น การที่เราคิดว่า "เป็นเรา" "เป็นเขา" คือ สิ่งสมมติ แท้จริงไม่มีเรา ไม่มีเขา เพราะเรา และเขาก็คือการประกอบกันของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และวิญญาณธาตุ หากธาตุเหล่านี้แปรปรวน หรือแยกกันแล้ว เราก็ตาย ไม่มีเรา ไม่มีเขา อีกต่อไป เราและเขาก็เหมือนกันเช่นนี้
การพิจารณากฎไตรลักษณ์ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ กล่าวคือ ให้เรามองเห็นสภาพทุกอย่างตามความเป็นจริง และความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาต พยาบาทของเราจะลดน้อยลง
Saturday, September 30, 2006
Subscribe to:
Posts (Atom)